วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านห้วยตาด

ชรบ. คือชื่อย่อของ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จัดตั้งโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือ เจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ.2551 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 (มาตรา 94, 95 และ 102) และพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.2522 (มาตรา 16 และ 18)

เหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากฝ่ายปกครองที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ ที่มีสถานการณ์ด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย มีความประสงค์จะให้ราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองมาตุภูมิ ดังนั้นจังหวัดและอำเภอจึงมีแนวคิดจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน

ในนิยามของระเบียบดังกล่าวเขียนไว้ว่า ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หมายถึงราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

เรียกโดยย่อว่า ชรบ. ซึ่งคัดเลือกจากบุคคลที่มีสัญชาติไทย มีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นไม่น้อยกว่า 3 เดือน เลื่อมใสในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นผู้มีความประพฤติดี เข้ารับการฝึกอบรม

สำหรับสายการบังคับบัญชา ในอำเภอหนึ่งให้มีกองพันหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน โดยมีนายอำเภอเป็นผู้บังคับกองพันฯ มีปลัดอำเภอ นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และข้าราชการในพื้นที่ตามนายอำเภอแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับกองพันฯ ฝ่ายยุทธการและการข่าว ฝ่ายกิจกรรมมวลชน ฝ่ายกำลังพลและส่งกำลังบำรุง และฝ่ายสื่อสารและงบประมาณ

ในระดับตำบลให้มีกองร้อย ชรบ. โดยมีปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบลเป็นผู้บังคับกองร้อย มีข้าราชการอื่นตามที่นายอำเภอแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับกองร้อย ฝ่ายยุทธการและการข่าว ฝ่ายกิจกรรมมวลชน ฝ่ายกำลังพลและส่งกำลังบำรุง และฝ่ายสื่อสารและงบประมาณ โดยมีกำนันเป็นผู้ช่วยผู้บังคับกองร้อย

ส่วนในระดับหมู่บ้าน หมู่บ้านหนึ่งให้มีหมวด ชรบ. มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บังคับหมวด ทหาร ตำรวจ หรือสมาชิก อส.จำนวน 2 นาย เป็นเจ้าหน้าที่

ขณะที่ในหมวด ชรบ. ให้แบ่งการปกครองบังคับบัญชาออกเป็นอย่างน้อย 2 หมู่ เรียกว่า ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ 1 ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ 2 ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ 3 ตามลำดับต่อไป โดยมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บังคับหมู่ และหมู่ ชรบ. ให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ตามความเหมาะสม

ด้านอำนาจหน้าที่ของ ชรบ. ระเบียบได้ให้ไว้ 10 ข้อ เช่น อยู่เวรยามรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ตรวจตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อย สืบสวนหาข่าว เฝ้าระวังสถานการณ์สำคัญ รายงานการเกิดเหตุหรือภัยต่างๆ ป้องกันและปราบปรามการ กระทำความผิดทางอาญา จับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิอาญาฯ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย